โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือการที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า  ทดลอง  และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพาราฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและพืชสมุนไพร  ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมเช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูกและใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ และที่สำคัญคือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้นต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวทางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเกิดความเสียหายง่าย เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดและความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ทางออกก็คือเกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุดจากแนวทางและเป้าหมายดังกล่าวมีแนวพระราชดำริที่ถือเป็นหลักเกณฑ์หรือเทคนิควิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นหลายประการ

ประการแรก ทรงเห็นว่าการพัฒนาการเกษตรที่จะได้ผลจริงนั้นจะต้องลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัสว่า ”’.. เกษตรกรรมนี้ หรือ ความเป็นอยู่ของเกษตรนั้น ขอให้ปฏิบัติ ไม่ ใช่ ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว..สำหรับการค้นคว้าทดลองนั้น ได้ทรงเน้นให้มีทั้งก่อนการผลิตและหลังจากผลิตแล้ว คือพิจารณาดูตั้งแต่เรื่องความเหมาะสมของพืชความเหมาะสมของดิน พืชอย่างใดจะเหมาะกับดินประเภทใดรวมทั้งการค้นคว้าเกี่ยวกับความต้องการของตลาด คือการปลูกพืชที่ตลาดต้องการผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ส่วนการค้นคว้าวิจัยหลังการผลิต คือการดูเรื่องความสอดคล้องของตลาด เรื่องคุณภาพของผลผลิตหรือทำอย่างไรจึงจะ ให้เกษตรกรได้มีความรู้เบื้องต้นในด้านการบัญชีและธุรกิจการเกษตรในลักษณะที่พอจะทำธุรกิจแบบพึ่งตนเองได้สำหรับในเรื่องนี้ทรงเห็นว่าการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว พระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้เกษตรกรได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีสภาพชีวิตที่มีความสุข ไม่เคร่งเครียดกับการเร่งรัดให้เกิดความเจริญโดยรวดเร็ว นอกเหนือจากเรื่องที่ทรงเน้นในเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสที่ว่า …ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียวเพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยและทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผลไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน…

เทคนิควิธีการในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์อีกประการหนึ่งคือการที่ทรงใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การใช้ที่ดินที่ทิ้งไว้เปล่าๆ ให้เป็นประโยชน์หรือการมองหาประโยชน์จากธรรมชาติในสิ่งที่ผู้อื่นนึกไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่งทรงสนับสนุนให้มีการทำครั่งจากต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ริมทางหลวงที่จะเสด็จฯ ไปพระราชวังไกลกังวล มีพระราชดำริว่า ”’..เกิดจากความคิดที่จะเอาต้นก้ามปูมาทำให้ประชาชนมีงานทำแล้วร่วม เป็นกลุ่ม…”’ การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ ”’การประหยัด”’ ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุดโดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ

วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้โคกระบือในการทำนามากกว่าให้ใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยหรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพงและมีผลกระทบต่อสภาพและคุณภาพของดินในระยะยาวนั่นคือทรงสนับสนุนให้ทำ ”’การเกษตรยั่งยืน”’ นอกจากนั้นยังทรงแนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพอันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือรายได้นอกเหนือจากการทำการเกษตรจากการหาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไผ่ ย่านลิเพา ปาหนัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจักสานเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของตนเอง

โครงการพัฒนาด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นประกอบด้วยงานหลายประเภทซึ่งโดยทั่วๆ แล้วจะเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นการดำเนินการส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองไปถ่ายทอดสู่ประชาชนด้วยการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโครงการเพื่อการส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวและทำนาขั้นบันได อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส หรือโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดพระนครศรี อยุธยา เป็นต้น

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิคและวิชาการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ความเจริญของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมนี้ มิใช่มีจุดหมายในตัวเองเท่านั้นหากแต่ยังมีความหมายต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่นและของประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย

Leave a comment