พระราชกรณียกิจด้านภาษาและวรรณกรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นในด้านภาษา พระองค์ทรงเจริญวัย  ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทรงภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้เป็นอย่างดี ต่อมา ทรงตระหนักว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร จึงสนพระราชหฤทัยหันมาทรงศึกษาภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเข้าถึงพื้นฐานของภาษาและทรงคุ้นเคยในการใช้ภาษานี้ถึงระดับที่ทรงได้ดีเป็นพิเศษ และยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักนิรุติศาสตร์

เมื่อทรงมีเวลาว่างจะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงแปลหนังสือเรื่อง
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (A Man Called Intrepid) ของ วิลเลียม สตีเวนสัน เป็นภาษาไทย ในปีต่อมาทรงแปลหนังสือเรื่อง ติโต (Tito) ซึ่งเป็นชีวประวัติ
ของ นายพลติโต ประพันธ์โดย ฟิลลิสออติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกแปลผลงานของ วิลเลียม สตีเวนสัน เพราะเป็นเรื่องที่ได้อรรถรสเกี่ยวกับกระบวนการความคิดเห็นและการตัดสินใจของคน โดยละเอียดรวมทั้งแสดงให้เห็นความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นของพวกสายลับฝ่ายพันธมิตรระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่เปิดเผยตัว หรือมองอีกแง่มุมหนึ่ง
จะเห็นพลังของความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันของฝ่ายพันธมิตร และความเสียสละอัตตาของตน เพื่อให้บรรลุผล คือความเป็นเอกภาพให้จงได้ นอกจากนี้ ในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง Buddhist Economics พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำสาระบางตอนจากเรื่อง Small is Beautiful ประพันธ์โดย อี เอฟ ชูมัคเคอร์ มาประกอบ

พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง พระมหาชนก เสร็จสมบูรณ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจประชาชนผู้มีจิตกุศล ให้เกิดความคิดในทางสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ผู้อ่านยังได้รับอานิสงส์ มีความพากเพียรที่บริสุทธิ์ มีปัญญาเฉียบแหลม และพลานามัยสมบูรณ์

พระปรีชาสามารถที่ทรงใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจมาก แม้แต่ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาโบราณและศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็ทรงศึกษารอบรู้อย่างลึกซึ้ง

Leave a comment